วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กฏหมายควรรู้

กฏหมายควรรู้
นิรโทษกรรมคืออะไร

นิรโทษกรรมหมายถึง การตรากฎหมายย้อนหลังเป็นคุณเเก่ผู้กระทำความผิดทางการเมืองหรือความผิดอาญาก็ได้ เเก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยบุคคลดังกล่าวจะไม่ตกอยู่ภายใต้การดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ลืมความบาดหมางกับเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเเล้ว


เงื่อนไขด้าน “องค์กร” ผู้มีอำนาจตรากฎหมายนิรโทษกรรม
จากการศึกษากฎหมายนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งปรากฎอยู่หลายฉบับ พบว่า หากไม่นับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนเเปลงการปกครองเเผ่นดิน พุทธศักราช 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนั้น โดยปกติ กฎหมายนิรโทษกรรมจะตราอยู่ในรูปของ “พระราชบัญญัติ” หรือ “พระราชกำหนด” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเท่านั้นที่มีอำนาจตรากฎหมายนิรโทษกรรม
เเต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ซึ่งผู้ร่าง ประสงค์จะให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เเละเป็นผลผลิตของส.ส.ร. ที่มาจากคมช.) เดินตามมาตรา 222 ของรัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งออกในสมัยรสช. โดยมาตรา 309 กลับรับรองเรื่องนิรโทษกรรมไว้ ขณะที่หากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2517 ที่ร่างในบรรยากาศประชาธิปไตยมากกว่านี้ มาตรา 4[1] กลับห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดเจน
เนื่องจากมีหลักกฎหมายทั่วไปว่า “บุคคลไม่สามารถอ้างประโยชน์จากการกระทำความผิดของตนได้” หรือหลัก “ไม่มีใครเป็นผู้พิพากษาในเรื่องที่ตนเองมีส่วนได้เสีย” [2] การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้จะสมควรกว่า
อีกทั้งมีเรื่องการลงประชามติของรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งไม่ควร “ยืมมือประชาชน” มาฟอกตัวให้กับผู้กระทำความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญเเละองค์กรเฉพาะกิจอย่างคตส.ด้วย
เงื่อนไขด้าน “เวลา”
รากศัพท์ของคำว่า “amnesty” มาจากภาษากรีก คือ “amnestia” เเปลว่า “ทำให้ลืม” คือลืมจากเหตุการณ์หรือความผิดในอดีต (past offense)
วัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ ทำให้สังคมลืมเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นเเละสิ้นสุดลงเเล้ว ดังนั้น ในกฎหมายนิรโทษกรรมของไทยนั้น ในอดีตจะเขียนไว้ในสองลักษณะ
ลักษณะเเรก จะกำหนดวันที่จะได้รับนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดเจน เช่น พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเเก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเเละประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516
ลักษณะที่สอง ซึ่งมักจะใช้กับการนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำรัฐประหารนั้น กฎหมายมักจะเขียนนิรโทษกรรมกับบรรดาการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายนิรโทษกรรมจะประกาศใช้ ดังปรากฎให้เห็นจาก พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเเก่ผู้ทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า
“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เนื่องในการกระทำรัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เเละประกาศใช้รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หากเป็นการผิดกฎหมายใดๆ ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดเเละความรับผิดโดยสิ้นเชิง เเละการใดๆ ที่ได้กระทำ ตลอดจนบรรดาประกาศเเละคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการกระทำรัฐประหารที่กล่าวเเล้ว ให้ถือว่าเป็นอันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ”
ความทำนองเดียวกันก็ปรากฎในพระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการเเผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 (มาตรา 3) เเละ พระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (มาตรา 3) เเละ พระราชนิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิการยน พ.ศ. 2514 (มาตรา 3)
กล่าวให้ง่ายเข้า กฎหมายจะนิรโทษกรรมได้ 3 ช่วงเวลาเท่านั้นคือ
1. ก่อนวันทำรัฐประหาร (เช่นการตระเตรียมการทั้งหลาย)
2. วันทำรัฐประหาร เเละ
3. หลังวันทำรัฐประหาร
เเต่ทั้งนี้ ต้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปดูว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนั้นๆ มีผลใช้บังคับเมื่อใด โดยปกติเเล้วจะเขียนไว้สองเเบบคือ มีผลให้ใช้บังคับตั้งเเต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ซึ่งหมายความว่า การกระทำหลังจากกฎหมายนิรโทษกรรม เเม้จะเกิดขึ้นเป็นผลเกี่ยวเนื่องหลังจากวันทำรัฐประหารก็ตาม เเต่หากการกระทำนั้นมีผลต่อเนื่องมายังวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับเเล้ว ความผิดต่อเนื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นความผิดอีกต่อไป
ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 มาตรา 3 บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ดี ….เเละไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด….”
ผลในทางกฎหมายก็คือ “การกระทำในวันที่กล่าวนั้น” ซึ่งหมายถึงวันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เเละ “ก่อนวันที่กล่าวนั้น” ซึ่งหมายถึงวันก่อนวันทำรัฐประหาร หรือก่อนวันที่ 20 ตุลาคม เเละ “หลังวันที่กล่าวนั้น” คือหลังวันทำรัฐประหารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ย่อมได้รับการนิรโทษกรรม
เเต่เมื่อมาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ใช้กับบรรดาการกระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ก็ต้องไปดูว่า กฎหมายนี้ใช้บังคับเมื่อใด
มาตรา 2 ของพ.ร.บ.นี้ระบุว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งเเต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเเก่ผู้กระทำการปฎิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2502 ดังนั้น บรรดาการกระทำที่กระทำขึ้นก่อนวันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ดี วันทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ดี เเละรวมถึงวันหลังวันทำรัฐประหารก็ดี เรื่อยมาจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2502 ก็ดี ล้วนได้รับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น
เเต่บรรดาการกระทำนับตั้งเเต่วันที่ 3 เมษายน 2502 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมเริ่มประกาศใช้ เเม้จะเป็นผลมาจากการปฎิบัติตาม “คำสั่ง” หรือ “ประกาศ” ของคณะรัฐประหารก็ตาม ย่อมไม่ได้รับอานิสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย ซึ่งย่อมหมายความว่า การกระทำนั้น ๆ เป็นความผิดเเละต้องได้รับโทษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น